เชื่อเลยว่าต่อจากนี้หุ่นยนต์และ AI จะมีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น กับการเปิดตัวบริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย “Obodroid”
เราเคยคุ้นชินกับการใช้ AI ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันหลายอย่างแล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งภาพ Tag หน้าตาเราอัตโนมัติ หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้ช่วยอย่าง Siri หรือ Google Assistant ที่ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ยิ่งในยุคที่เราต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ลดการสัมผัสเพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพ หุ่นยนต์ชาญฉลาดนี่แหละจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแน่นอน
และในตอนนี้เราก็มีบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์และ AI สัญชาติไทยอย่างบริษัท โอโบดรอย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) ภายใต้ความร่วมมือกับ MQDC (บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) โดยมีเป้าหมายในการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถนำไปใช้จริงภายในพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืนครับ
โดยมีหุ่นยนต์รุ่นแรกได้แก่
- ‘ไข่ต้ม (KAITOMM)’ หุ่นยนต์ที่เป็นทั้งเพื่อนและผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) พูดคุยได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Home Automation เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่างๆ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าของผู้ใช้งาน มีกล้องภายในตัว ที่สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือโทรวีดีโอคอลได้ จะตั้งเตือน ตั้งปลุก เล่นเพลง สวดมนต์ เช็คสภาพอากาศ ก็ได้สารพัดประโยชน์ ดีเหมือนกันถ้าเจอเหตุการณ์ระทึกขวัญจะตั้งให้สวดมนต์อัตโนมัติไปเลย ฮ่าๆ
- ‘เอสอาร์วัน (SR1)’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบ Auto-Navigation System พร้อมด้วยกล้องรอบตัว 360 องศา เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้น มีการใช้ AI ตรวจจับวัตถุตามที่ต้องการ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ เพื่อส่งข้อมูลแจ้งเตือนได้ทันที แถมมีฟังก์ชั่นการโทรฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ที่ทางบริษัทฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอย่าง ‘ปิ่นโต (PINTO)’ หุ่นยนต์ส่งของเพื่อช่วยการส่งของระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมทั้ง ‘กระจก (MIRROR)’ แท็บเล็ตพร้อมแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการสื่อสารทางไกล ที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย และลดความเสี่ยงจากการรับเชื่อไวรัส COVID – 19 สู่การนำไปใช้จริงในโรงพยายาลต่างๆ ในเกือบทุกภาคส่วนของประเทศไทยอีกด้วย
International Federation of Robotics (IFR) เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 31% หรือ 48 ล้านตัว ภายในปี 2564 โดยกลุ่มหุ่นยนต์ที่โตที่สุด คือ กลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย (Service Robot) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนของกระบวนการดิสรัป (Disruption) ของหลากหลายวงการหากก้าวตามไม่ทัน นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ซึ่งจะมีการขยายตัวเร็วที่สุดสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ในระดับโลก รองจากบราซิล 33% อินเดีย 26% และจีน 22%
หลังจากนี้ผู้คนจะเปิดใจยอมรับการใช้งานหุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย แต่ยังถูกเร่งด้วยสถานการณ์โรคระบาด ที่การใช้หุ่นยนต์เป็นส่วนที่ทำให้สามารถรักษาความสะอาดและระยะห่างทางสังคมได้ดี
เห็นข้อมูลแบบนี้แล้วก็พอรู้แล้วว่าเราควรส่งลูกไปเรียนอะไรนะครับ แนวทางการพัฒนาทักษะของแรงงานไทยที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคตก็คงจะต้องเปลี่ยนไป หากเราต้องการมีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจเพื่อไปสู้สังคมโลกได้ เราก็ต้องมีทักษะและต้นทุนด้านเทคโนโลยีที่มีของเราเองนี่แหละครับ
#LivingSneakPeek #LivingwithRobots #Obodroid #MQDC