บันทึกหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มี.ค. 68…
เมื่อวานเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่เราอาจจะ (และหวังว่า) ได้พบเจอเพียงครั้งเดียวในชีวิต ผู้คนมากหน้าหลายตาไม่มีที่นอนเพราะไม่สามารถกลับเข้าคอนโดได้ บางคนต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเดินทางกลับบ้านเนื่องจากรถไฟฟ้าปิด และการจราจรเป็นอัมพาตทั่วกรุงเทพ หลายครอบครัวตกอกตกใจเพราะลูกหลานไม่ได้อยู่ในอ้อมอก ท่ามกลางความขวัญผวาจากภาพเหตุการณ์รุนแรงที่มีการเผยแพร่ในวงกว้าง ผมขอกราบหัวจิตหัวใจผู้เสียสละทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันทำให้สถานการณ์คลี่คลายแม้ตัวเองก็มีครอบครัวที่เป็นห่วงด้วยเช่นกัน
แต่ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น ผมขอประณามผู้ที่ซ้ำเติมเหตุการณ์อย่างคนขับรถ Taxi ที่นอกจากจะปฏิเสธผู้โดยสารแล้ว ยังคิดราคาแพงขึ้นกว่าปกติโดยเอาความกังวลใจและหวาดหวั่นของผู้คนเป็นตัวประกัน น้องทีมงานของผมเมื่อวานไปทำงานอยู่ข้างนอกกว่าจะเดินทางกลับบ้านได้ต้องอาศัยพี่วินนั่งกลับมาเพราะว่าไม่มีรถคันไหนรับเลย ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนก็คงได้ประสบพบเจอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมอยากเห็นบทลงโทษสำหรับพฤติกรรมนั้นในเวลาที่คับขันแบบนี้อย่างจริงจังครับ
จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งมวล ผมอยากบันทึกข้อคิดเห็นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเอาไว้เตือนใจหลายอย่าง
1.การส่งต่อหรือแชร์ภาพที่เพิ่มความหวาดกลัววิตกกังวลโดยขาดความรับผิดชอบ
ช่องทางใน Social Media มีประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ในสถานการณ์ แต่ก็เป็นดาบสองคมอย่างเช่นกรณีเมื่อวานที่มีการส่งต่อสิ่งที่สร้างความเข้าใจผิด ไม่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือแม้แต่ Fake News สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้คน Panic มากกว่าเดิม แต่ก็ยังดีที่หลายเพจได้ให้ข้อมูลกำกับเพื่อสร้างความเข้าใจควบคู่กันไปด้วย ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีคนให้ข้อมูลให้ความรู้มากขึ้นซึ่งผมขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันครับ
2. การยอมรับความจริงว่าเราอาจจะพบเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้อีกแม้จะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ก็ตาม
จริงๆ แล้วแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกายซึ่งมีการแจ้งเตือนกันแล้วตั้งแต่หลายปีก่อนว่า เราอาจจะได้พบเห็นผลกระทบของมันภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ยังโชคดีที่ความร้ายแรงจนถึงขั้นอาคารถล่มนั้นไม่ได้มีวงกว้างมากกว่านี้ ความเข้าใจและยอมรับความจริงในเรื่องนี้ได้จะทำให้เราพร้อมรับสิ่งไม่คาดฝันได้ดีมากกว่าเดิม
3. ประเทศที่พบเจอแผ่นดินไหวมากที่สุดกว่าเรายังมี และเค้าอยู่กับมันได้
เชื่อมั้ยครับว่าญี่ปุ่นนั้นเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 ครั้ง/ปี หรือก็คือ ทุกๆ 8 ชั่วโมงจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นหนึ่งครั้ง พูดได้เลยว่าคนญี่ปุ่นไม่ใช่แค่ “มีโอกาสเจอ” แต่ “แผ่นดินไหวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนญี่ปุ่น” ครับ แล้วเค้าปรับตัวอยู่กันได้อย่างไรขอสรุปเป็นข้อๆ แบบนี้ครับ
- การสร้างเมืองให้พร้อมตั้งแต่รากฐาน นั่นก็คือกฎหมายก่อสร้างที่เข้มงวด โดยทุกตึกใหม่ต้องไม่ถล่มแม้เจอแผ่นดินไหวระดับสูงสุด Shindo 7 (ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ผมเขียนไว้ที่นี่ครับ https://www.facebook.com/livingsneakpeek/posts/1208867400632282)
- การเตรียมพร้อมระดับครัวเรือน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีกระเป๋าฉุกเฉินหรือ Bousai Bag ติดบ้านเสมอ ซึ่งข้างในจะมีอาหาร น้ำ ไฟฉาย วิทยุ แบตเตอรี่ เสื้อกันฝน หน้ากาก ซึ่งจะช่วยให้ใช้ชีวิตผ่านเหตุการณ์ฉุกเฉินได้
- การปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมอพยพทุกโรงเรียนอยู่เป็นประจำ แม้แต่เด็กอนุบาลยังรู้จักวิธีหลบใต้โต๊ะตั้งแต่พูดยังไม่คล่อง รวมทั้งมีสื่ออย่างการ์ตูนที่ปลูกฝังจิตสำนึกอย่างเป็นธรรมชาติ
- มีระบบเตือนภัยที่ทันสมัย โดยเรียกว่า Earthquake Early Warning (EEW) ส่งตรงเข้ามือถือ หรือทีวีทันทีเมื่อมีแรงสั่นถึงจุดหนึ่ง ซึ่งแม้จะแจ้งล่วงหน้าได้ไม่กี่วินาที หรืออาจจะไม่มีสามารถแม่นยำได้ 100% อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาคือ “Earthquake Information” ซึ่งจะออกโดย JMA ภายในไม่กี่นาทีหลังเกิดเหตุที่จะบอกข้อมูลครบถ้วนทั้งศูนย์กลางแผ่นดินไหว เวลา ขนาด ความลึก ระดับความสั่น ไปจนถึงความเสี่ยงสึนามิ สิ่งนี้จะช่วยลดความกังวลของประชาชนไปได้มาก ซึ่งสามารถระบุแผนที่แรงสั่นจริงที่รับรู้ได้รายจังหวัดเลยครับ
- สังคมที่มีวินัยช่วยเหลือกัน เวลาเกิดเหตุจะไม่แย่งกัน ไม่ตื่นตระหนกแต่ช่วยกันจัดระเบียบการอพยพและหยิบยื่นให้ผู้อื่น เป็นการร่วมมือกันทั้งภาครัฐ อาสาสมัคร และประชาชน
เรียกว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้ชินกับแผ่นดินไหว แต่เพราะเค้าเตรียมตัวล่วงหน้าเสมอ และเชื่อว่า “ภัยธรรมชาติควบคุมไม่ได้ แต่การเตรียมตัวเราทำได้” จากเหตุการณ์เมื่อวานทำให้ผมรู้สึกว่าบ้านเราบกพร่องเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติจริงๆ
4.อนาคตของคอนโดไทยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ส่วนตัวผมคิดว่าในระยะสั้นนี่อาจจะมีการชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียมอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวผมเชื่อว่าเราก็คงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการจุดเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่จะขึ้นอยู่กับการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้นี่แหละ โดยเริ่มจากจุดสำคัญที่สุดคือขอให้ท่าน Empathy ต่อลูกบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกคน
ภาพลักษณ์โครงการที่จะเป็นจุดขายต่อจากนี้ก็อาจจะมีจุดที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมนั่นคือ “มาตรฐานการก่อสร้างและความปลอดภัย” ใครที่เคยสอบตกด้านนี้จะมีความท้าทายต่อใจผู้บริโภคมากขึ้น
ถามว่าเมืองไทยมีแบรนด์ที่เน้นเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยไหม มีครับ ผมขอยกตัวอย่างจากแบรนด์ที่ยังจับต้องได้ไม่ใช่ระดับเพชรยอดมงกุฎละกันอย่าง MQDC ถ้าพูดเรื่องการรองรับแผ่นดินไหวเค้าก่อสร้างเหนือกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย มีการรับประกันโครงสร้างถึง 30 ปี และมีการตรวจสุขภาพโครงสร้างเป็นประจำทุกปี อันนี้ชื่นชมเลยจากใจ
จริงๆ ก็เคยเห็นข่าวการนำเสนอเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบ Base Isolated System ที่ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวโดยแยกโครงสร้างอาคารออกจากฐานรากของญี่ปุ่นมาอยู่บ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นใช้จริงในเมืองไทยเนื่องจากความเสี่ยงต่ำ และยังทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก แต่ใครจะรู้ทุกวันนี้คอนโดที่ต้นทุนสูงจากวัสดุตกแต่งราคาแพงยังไม่แปลก ในอนาคตอาจจะได้เห็นโครงการ Ultra Luxury ตีความจากมุมนี้ก็เป็นได้ จากที่เคยได้ยินทั้ง Private is Luxury, Luxury is Space, จะ Bespoke หรือ Curated ก็ทำมาหมด ใครจะรู้อนาคตต่อจากนี้ Luxury อาจจะมี Peace of Mind หรือ A Sense of Safety บ้างก็เป็นไปได้ ถ้ามีมาตรฐานระดับที่ว่าแม้แต่เหตุการณ์ที่ร้อยปีจะมีครั้ง คุณก็ยังอยู่อย่างปลอดภัยได้ในคอนโดของเรา
ที่มา
ประกาศจากแสนสิริ ลูกบ้าน โทร.1685 ได้เลยครับ
มาตรการช่วยเหลือจากกรุงไทยครับ
แถลงการณ์จาก ออริจิ้น กรณี Park ทองหล่อครับ
ศุภาลัยตั้งเป้าตรวจสอบให้ครบทุกอาคารภายในวันนี้ครับ
Major Development นี่ผมได้รับแจ้งเตือนทางไลน์ตั้งแต่แรกๆ เลยครับ