หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมต่างก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวในประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงพัทยา ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ
เผยว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้พัทยามียอดผู้เข้าพักในโรงแรมในระดับสูง คือ ระยะทางขับรถที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียบพร้อม มีระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี และการที่ผู้คนยังระมัดระวังในการเดินทางด้วยเครื่องบินแม้สายการบินต่างๆ จะมีมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างจริงจังแล้วก็ตาม
และเพื่อเป็นการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศให้ดีขึ้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชื่อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่าที่พักให้สูงสุดถึง 40% หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน รวมถึงค่าตั๋วเครื่องบิน
โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2563 และเป็นที่คาดการณ์ว่าเฟสสองจะมีการขยายระยะเวลาการอุดหนุนค่าที่พักจาก 5 คืนเป็น 10 คืนและเพิ่มการสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาทเป็น 2,000 บาทต่อคน
แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี รายงานว่า จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง การเข้าพักโรงแรมในช่วงประมาณ 15 วันหลังจากเริ่มโครงการดังกล่าว ชลบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
เนื่องจากมีชายหาดที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี 2 แห่ง คือ บางแสนและพัทยา โดยมีการเข้าพักในโรงแรมมากกว่า 14,000 ห้อง คิดเป็นเกือบ 17% ของการเข้าพักทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ราว 85,000 ครั้ง ตามด้วยประจวบคีรีขันธ์ที่มียอดเข้าพักคิดเป็น 8% ของการเข้าพักทั้งหมด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวในชลบุรีมีความเกี่ยวเนื่องเป็นอย่างมากกับจำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยมากกว่า 80% ของนักท่องเที่ยวในชลบุรีเดินทางไปยังพัทยาด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2559 – 2562 มากกว่า 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในชลบุรีเป็นชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่าในปี 2563 จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 เพราะธุรกิจท่องเที่ยวหันไปให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศ
พัทยาเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของไทยสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในสัดส่วนที่เท่ากัน ในขณะที่บางแสนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยมานานแล้ว
โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในบางแสน 95% เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย และบางแสนจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวชาวไทยหลังเกิดโควิด-19 เห็นได้ชัดจากการจราจรที่หนาแน่นหลังการปลดล็อคดาวน์จนหน่วยงานในพื้นที่ต้องปิดถนนเข้าสู่ชายหาดชั่วคราวเพื่อลดความแออัด
นอกจากนี้ แผนกวิจัย ซีบีอาร์อียังเผยอีกว่า ถึงแม้พัทยาอาจฟื้นตัวกลับไปสู่สภาวะก่อนโควิด-19 ได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากความต้องการในภาคการท่องเที่ยวของพัทยามากกว่าครึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ถึงแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง พัทยาก็ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในประเทศที่หลากหลาย
ตั้งแต่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมชายหาดที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงนักไปจนถึงสถานที่พักผ่อนตากอากาศระดับหรู โดยเห็นได้จากระดับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่สูงกว่า ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,900 บาทต่อคนต่อวันในพัทยา เปรียบเทียบกับ 2,400 บาทต่อคนต่อวันในบางแสน ตามสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สำหรับตลาดที่พักอาศัยและบ้านพักตากอากาศ พัทยาเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับผู้ที่มองหาบ้านหลังที่สองพร้อมวิวทะเลในเมืองตากอากาศ นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนานาชาติและโรงพยาบาล
นอกจากนี้ แผนกวิจัย ซีบีอาร์อียังมองว่าพัทยายังมีศักยภาพที่ดีที่จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามบินอู่ตะเภา มอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของภาครัฐ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พัทยาเป็นเมืองที่สามารถเดินทางเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และดึงดูดทั้งนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเมื่อมีการประกาศยกเลิกการห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศ ดังนั้น พัทยาจึงกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองชายหาดที่จะได้รับประโยชน์หลังจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ