PM ย่อมาจาก Particulate Matters คือค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองที่ลอยในอากาศ ส่วน 2.5 ที่มีหน่วยวัดเป็นไมครอน หมายถึงอนุภาคขนาดเล็ก พูดง่ายๆ ก็คือ PM2.5 มันคือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก แบบมากสุดๆ คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กกว่าเส้นผมเราหลายสิบเท่า จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งก็คิดดูว่าถ้าไอ่เจ้าฝุ่น ที่ลอยละล่องอยู่ในอากาศเวียนไปวนมา แล้วเราหายใจรับมันเข้าไปเข้าผ่านจมูก ผ่านปาก หรือแม้แต่มาสัมผัสกับร่างกาย ทั้งเข้าตา ทั้งโดนหน้า ร่างกายของเราจะเป็นยังไงบ้าง..?
ที่มาที่ไปเกิดจากอะไร?
สาเหตุหลักๆ ส่วนใหญ่ก็พอจะเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า …โอ เมื่อมีไฟ ไฟ ไฟลุกขึ้นแจ่มจ้า… ก็จะทำให้เกิดควัน และเกิดฝุ่นละอองตามมาอยู่แล้วใช่มั้ยครับ ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดไฟ หรือฝุ่นควันมีอะไรบ้างหล่ะ… ก็อย่างเช่น การเผาไหม้จากยานพาหนะ หมายถึงพวกควันรถจากท่อไอเสียนั่นแหละ, การเผาวัสดุการเกษตรต่างๆ, ควันที่เกิดจากไฟป่า หรือแม้แต่ควันที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมก็มีส่วนทำให้เกิดฝุ่นเหล่านี้ทั้งสิ้น
เจอฝุ่นเข้าไปขนาดนี้ จะส่งผลกระทบยังไงบ้าง ?
อันที่จริงทุกวันนี้เราก็ก่อฝุ่น ก่อควันกันอยู่ทุกวันนะครับ ตัวอย่างง่ายๆ เลยก็ควันบุหรี่, ควันธูป, ควันจากรถยนต์, ควันจากการเผารูปแฟนเก่า หรือแม้แต่ควันจากหมูปิ้งร้อนๆ หน้าปากซอย ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราอาจจะต้องมาช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก่อนจะสายเกินแก้…เพราะการสูดดม หรือรับ PM.25 เข้าไปในร่างกายมากๆ ส่งผลเสียแน่นอนครับ อย่างที่เห็นกันได้ทันทีตอนนี้ง่ายๆ เลยคือ การไอ,จาม, เกิดผื่นขึ้นตามตัว, แสบตา ตาแดง, แสบจมูก หายใจไม่เต็มปอดรวมไปถึงการสะสมจนทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวเช่น โรคภูมิแพ้ (ยิ่งคนที่เป็นอยู่แล้วยิ่งอาจถูกกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้ง่าย หรือหนักขึ้น), เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคปอดเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบ หรือมะเร็งปอด หรือถ้าได้รับมากๆ ก็อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตเลยนะครับ
รู้อย่างนี้แล้ว มีวิธีป้องกันบ้างไหมนะ?
แน่นอนว่าตอนนี้ทุกคนตระหนักถึงภัยที่กำลังเกิดขึ้นกับค่า PM2.5 ในอากาศที่สูงเกินมาตรฐานกันดีอยู่แล้ว หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนออกนโยบายและสรรหาวิธีการป้องกันมามากมายไม่ว่าจะเป็น สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย
ติดตั้งระบบการแจ้งเตือนมลพิษในเมือง โดยมีการนำร่องติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น ณ สถานีพระจอมเกล้าลาดกระบังแล้ว
- พัฒนาแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนปริมาณฝุ่น (Smart Mobility)
ให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาและแบบเรียลไทม์ - กำหนดพื้นที่เสี่ยง (Risk Area) โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้ายรถเมล์
- ฉีดน้ำจากที่สูง, ฉีดน้ำล้างถนน
และติดสปริงเกอร์บนตึกสูงเพื่อพ่นละอองน้ำ - ควบคุมรถบรรทุก และรถสาธารณะเครื่องยนต์ดีเซลที่มีอายุการใช้งาน
5 ปีขึ้นไป
เพื่อปรับปรุงเครื่องยนต์ดีเซลให้ปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน
และลดการปล่อยควันดำ
หรือวิธีง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้เลยคือการใส่หน้ากากครับ ยอมใส่หน้ากากหากันช่วงนึง
ยอมปลดล็อคหน้าจอไอโฟนไม่ติดกันได้วินาทีแรกแป๊บนึง… หรือถ้ามีสเปรย์ฉีดพ่นสำหรับกันฝุ่น 2.5 นี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน
ผมเคยถอยมาตอนไปญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว แต่ละเลยไม่ยอมแกะมาใช้เลย นี่ก็คงถึงเวลาต้องไปรื้อหากันอีกครั้ง… บ้านไหนจะลงทุนหน่อยซื้อเครื่องฟอกอากาศมาติดตั้งไว้ก็ได้นะครับ ยิ่งบ้านใครมีเด็ก หรือผู้สูงวัยด้วยแล้ว สมัยนี้หลายรุ่นที่ออกมาวางจำหน่ายก็ทำมากรองฝุ่น PM 2.5 ทั้งนั้น หรือถ้าเป็นไปได้ช่วงนี้พยายามหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่ในที่โล่งแจ้งถ้าไม่จำ เป็นเลยก็ดีครับ
อันที่จริงไม่ใช่แค่บ้านเราที่ประสบปัญหานี้หรอกนะครับ สภาวะนี้เคยเกิดขึ้นหนักมากๆ มาแล้วที่ประเทศจีนมา เนื่องด้วยบ้านเค้าเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่สูง การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการผลิตก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความแออัด การจราจร แต่ละอย่างก็ดูจะส่งผลให้เกิดมลพิษเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางการจีนถึงกับมีแผนว่าจะใช้งบประมาณราว 7 ล้านล้านบาท เพื่อลดปัญหาหมอกควันให้ได้ อย่างที่ปักกิ่งแค่เมืองเดียว เค้าเตรียมไว้กว่า 81 โครงการ เพื่อลดปัญหาหมอกควันภายใน 5 ปี แถมมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ดีขึ้น การตรวจสอบการปล่อยไอเสียให้ได้ตามมาตรฐาน ในปี 2016 แถมยังมีคำสั่งปิดเหมืองถ่านหินกว่า 1,000 แห่งอีกด้วยนะครับ ไหนจะที่เกาหลี หรือแม้แต่ในยุโรป เค้าก็มีมาตรการและข้อบังคับที่เด็ดขาดออกมาให้ประชาชนได้ปฏิบัติตาม เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองที่เป็นภัยต่อชีวิตพวกนี้ได้
อย่างไรก็ตามตอนนี้เราคงทำได้แค่ช่วยกันลดสาเหตุที่จะก่อให้เกิดฝุ่นควัน หรือมลพิษต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะไปทางเดียวกัน ติดรถไปด้วยกัน ลดการจุดธูปลง หรือเทศกาลตรุษจีนนี้งดเผากระดาษกันก็เป็นอีกทางเลือกนึงนะครับ อากง อาม่า แกคงเข้าใจ และพวกเรา Living Sneak Peek ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะดูแลตัวเอง และร่วมมือร่วมใจกันลดปัญหาเหล่านี้ เพื่อช่วยกันสร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่เหมือนเดิมกันอีกครั้งนะครับ
**ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
https://www.salika.co/2020/01/17/reduce-pm2-5-solution-from-international/