เวลาได้เห็นบริษัทใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ ผมมักจะมีคำถามในใจว่า “แล้วจากนี้จะยังไงต่อไป?” ด้วยความสงสัยว่าในขณะที่ทุกอย่างไปได้สวยแล้ว เค้าจะกลัวที่จะทำอะไรแตกต่างไปจากเดิมจนผิดพลาดมั้ย แต่พอได้ฟังวิธีคิดของยักษ์ใหญ่อสังหาฯ อย่าง AP Thailand ผ่านการบอกเล่าโดยคุณวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ ก็ต้องยอมรับว่านี่แหละคือวิธีคิดของคนที่มุ่งมั่นก้าวไปข้างหน้าไม่มีหยุด
คุณวิทการบอกว่า AP เป็นบริษัทใหญ่ ทำจนเชี่ยวชาญทะลุปรุโปร่งในธุรกิจ แต่ในทางกลับกันก็สิ่งนี้ก็อาจจะทำให้ติดอยู่ในกรอบที่คุ้นชินจนคิดนอกกรอบไม่ออก ทางแก้ก็คือการค้นหาคนที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ และ Passion จากภายนอก มารวมทีมเพื่อสร้าง Innovation ใหม่ๆ แต่จะมีแค่ไอเดียอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องทำเป็นธุรกิจให้ได้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะได้รับการฟูมฟักและสนับสนุนจาก AP นั่นเอง
กระบวนการที่ว่านี้ AP เรียกว่า “Zero to Hero Process” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
- Set up เป็นการเซ็ตทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ไม่ว่าเรื่องของแนวคิดที่ต้องตรงกับทาง AP ไม่ใช่ว่าอยากจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานเรื่องการอยู่อาศัย, การสร้าง Teamwork ที่พร้อมทำงาน และสร้าง Ecosystem ที่จะสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดธุรกิจใหม่ได้จริง
- Ideation เป็นกระบวนการทำความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า หรือปัญหาที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ออกมาให้ละเอียดชัดเจน และระดมไอเดียเพื่อตอบสิ่งเหล่านั้นให้ได้อย่างสร้างสรรค์
- Validation สิ่งสำคัญมากก็คือ แนวคิดต่างๆ ต้องไม่ใช่การฟุ้งหรือลอยอยู่แค่ในอากาศ แต่มันต้องตอบได้ว่า “ทำได้จริงมั้ย” ด้วยการให้ Budget ในการพัฒนา ให้แนวคิดนั้นได้ทดลองตลาด นำไปสู่สร้างโมเดลธุรกิจจริง
- Scale เมื่อแนวคิดนั้นผ่านมาทุกกระบวนการแล้ว ก็จะนำไปสู่การเติบโตต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ที่ยืนได้ด้วยตัวเอง
ตัวอย่างของธุรกิจใหม่ที่เกิดจากกระบวนการนี้ของ AP Thailand และลูกบ้านหลายคนน่าจะเคยได้ใช้แล้วนั่นก็คือ “KATSON” ระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นส่วนหนึ่งของแอป Smart World บริษัท Property Management ของ AP ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะสามารถขับรถเข้าออกได้สะดวกผ่านระบบ “Plate Recognition” เพื่อนที่มาเยี่ยมเราก็ไม่ต้องแลกบัตรถ้าเรา Register ป้ายทะเบียนแล้วล่วงหน้า รถราที่เข้ามาในหมู่บ้านก็จะตรวจสอบได้ทั้งหมด ว่าเป็นของบ้านไหน หรือเข้ามาทำธุระอะไร รวมถึงลืมระบบประทับตรายางแบบเดิมๆ ไปเลย เพราะเค้าใช้ e-stamp มาแทนนั่นเอง
อีกแอปหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “FitFriend” เกิดจากปัญหาช่วงโควิดที่ยิมทั้งหลายแหล่ปิดทั้งหมด คนที่อยากออกกำลังก็ไม่มีที่ออก เทรนเนอร์ทั้งหลายก็ไม่มีที่ทำงาน แอปนี้ก็จะเป็นสื่อกลางที่จะจับคู่คนอยากออกกำลังเข้ากับเทรนเนอร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะฟิตเนส ชกมวย โยคะ ฯลฯ จะเป็นเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ก็สามารถจองและนัดหมายกันได้ครับ
กระบวนการ “Zero to Hero” นี้แม้จะมีผลออกมาแล้ว เค้าก็ยังคอยดูและหาทางพัฒนากันต่อไปนะครับ เพราะก็มีจุดที่ละเอียดอ่อนตรงที่เป็นการทำงานกับคน เมื่อ เข้ามาในกระบวนการนี้ AP มีเงินเดือนให้ มีสวัสดิการ มีออฟฟิศ แถมยังส่งไปเรียนต่ออีก เรียกว่าดูแลอย่างดี จนบางครั้งคนที่เคยมีไฟ ก็อาจจะรู้สึกสบายและย่ามใจ จนไม่อาจรักษาไฟเหล่านั้นให้ลุกโชนเหมือนเก่า เป็นความท้าทายที่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดูแลแบบพอเหมาะพอดี รวมถึงต้องหาคนที่ “ใช่” จริงๆ แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ กระบวนการนี้ AP ทำ และพิสูจน์แล้วอย่างเป็นรูปธรรม นำมาสู่การพัฒนาสินค้า บริการ เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย ดัง Brand Promise ของ AP ที่ว่า “ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้”
#LivingSneakPeek #Sneakinfo #APThailand #APThai #ชีวิตดีๆที่เลือกเองได้ #APThaiUpdate2023 #CTC2023