นายวัชริน กสิณฤกษ์ กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการบ้านจัดสรร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการดำเนินงานโดยสรุปของบริษัทฯ สำหรับปี 2567 รวมทั้งแผนงานของปี 2568 ดังนี้
- ในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2567 ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) แสดงจำนวนที่อยู่อาศัย ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์โดยผู้ประกอบการ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งตลาดลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์โดยรวมในตลาดที่อยู่อาศัยยังอ่อนตัวลง และเมื่อแยกรายตลาด พบว่า ตลาดบ้านแนวราบมีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง 22% ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมมีการโอนกรรมสิทธิ์ใกล้เคียงกับปีก่อน
- ในด้านอุปทาน ข้อมูลจากบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) แสดงจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2567 ลดลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน อุปทานที่ลดลงมาจากทั้งตลาดบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียม แต่หากพิจารณาเฉพาะตลาดบ้านเดี่ยวพบว่า จำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในตลาดบ้านเดี่ยวมีจำนวนน้อยกว่าอุปทานที่เปิดขายใหม่ราว 50% จึงส่งผลให้จำนวนหน่วยเหลือขายของตลาดบ้านเดี่ยวเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้สินค้าบ้านเดี่ยวซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทยังคงมีการแข่งขันที่สูงมากต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565
- สำหรับปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 2.9% และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะลดลง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐและจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น แต่ภาคการส่งออกยังชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ ความต้องการซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังได้รับแรงกดดันจากยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่ปรับสูงขึ้น และระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในปีนี้คือ การรักษาสภาพคล่อง และความระมัดระวังในการใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโครงการ
ผลการดำเนินงานปี 2567
- ปี 2567 สินค้าประเภทบ้านแนวราบ ซึ่งได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์ ยังคงเป็นสินค้าหลักที่สร้างยอดขายให้กับบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนประมาณ 80% ของยอดขาย และเมื่อจำแนกตามพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงเป็นพื้นที่หลักในการก่อให้เกิดยอดขาย โดยสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ประมาณ 88% ของยอดขายรวมทั้งหมด ซึ่งกว่าครึ่งของยอดขายรวมมาจากบ้านระดับราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป
- บริษัทฯ ได้เปิดตัวบ้านเดี่ยวแบรนด์ใหม่ “ vie ” ภายใต้คอนเซปต์ The Limitless Life เป็นแบบบ้านสไตล์ Modern Minimal ให้พื้นที่และฟังก์ชันเปิดกว้างเน้นพื้นที่ใช้สอย โดยในปี 2567 ได้เปิดตัวโครงการแล้วใน 3 ทำเล ได้แก่ ราชพฤกษ์ตัดใหม่ ทางด่วนรามอินทรา-วงแหวน และ ปิ่นเกล้า-พุทธมณฑลสาย 5
- ปี 2567 บริษัทฯ มีการเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 12 โครงการ มูลค่า 30,850 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าแนวราบทั้งหมด เมื่อเทียบกับแผนเดิมที่ประกาศไว้เมื่อต้นปี พบว่า เปิดเพิ่มขึ้น 1 โครงการ คือโครงการ “ vie ทางด่วนรามอินทรา-วงแหวน ” มูลค่า 650 ล้านบาท โดยรวมแล้ว เฉพาะมูลค่าโครงการแนวราบที่เปิดใหม่ เพิ่มขึ้น 8.4% จากปีก่อน โดยในระหว่างปีบริษัทฯ มีการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ประมาณ 4,300 ล้านบาท
แผนการดำเนินงานปี 2568 : เปิดตัว 4 โครงการใหม่ระดับกลาง-บน
- เนื่องจาก บริษัทฯ ยังมีสินค้าคงเหลือขายในระดับที่เพียงพอ ในปี 2568 บริษัทฯ จึงมีแผนเปิดโครงการใหม่เพียง 4 โครงการ มูลค่ารวม 11,180 ล้านบาท ลดลง 64% เมื่อเทียบกับปีก่อน โครงการใหม่ในปีนี้ทั้งหมดจะเป็นโครงการบ้านเดี่ยว ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 โครงการ และภูเก็ต 1 โครงการ โดยจะเป็นโครงการภายใต้แบรนด์บ้านเดี่ยวในระดับราคา 8 – 15 ล้านบาท คือ Siwalee และแบรนด์บ้านเดี่ยวในระดับราคา 30 – 80 ล้านบาท คือ Nantawan และ VIVE ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสินค้าในระดับกลาง-บน หรือทดแทนโครงการที่ขายหมดในปีที่ผ่านมา
- ดังนั้น เมื่อรวมกับโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จำนวนโครงการที่ดำเนินการในปี 2568 จะมีทั้งหมด 75 โครงการ มูลค่าประมาณ 93,000 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าแนวราบ 69 โครงการ มูลค่าประมาณ 79,500 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 6 โครงการ มูลค่ากว่า 13,500 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยในปี 2568 ประมาณ 10.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 9.8 ล้านบาทในปีก่อน นายโชคชัย วลิตวรางค์กูร กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการอาคารชุด เปิดเผยภาพตลาดและข้อมูลสินค้าคอนโดมิเนียมของบริษัทฯ ดังนี้
- ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) แสดงจำนวนหน่วยห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์โดยผู้ประกอบการ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 พบว่ามีจำนวนใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติมีประมาณ 15% เพิ่มจาก 13.5% ในปีก่อน
- ข้อมูลจากบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) แสดงหน่วยขายห้องชุด ที่เปิดใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ปี 2567 ลดลงประมาณ 43% จากปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการ มีการปรับตัวโดยเปิดโครงการลดลงตามทิศทางของกำลังซื้อที่ยังไม่ได้แข็งแรง อย่างไรก็ตามความต้องการซื้อในปีนี้ มีจำนวนมากกว่าหน่วยขายที่เปิดใหม่ จึงทำให้จำนวนหน่วยเหลือขายในตลาดคอนโดมิเนียม ณ สิ้นปี ลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาด
- ในปี 2568 คาดว่าตลาดคอนโดมิเนียมจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยบวกจากจำนวนหน่วยเหลือขายที่ปรับลดลงในปี 2567 และการลดลงของอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และมาตรการ LTV ยังเป็นปัจจัยกดดันส่งผลให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมอาจยังไม่แข็งแรงเท่าช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19
ผลการดำเนินงานปี 2567
- ปี 2567 บริษัทฯ มียอดขายจากสินค้าคอนโดมิเนียมกว่า 3,400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดขายรวมทั้งหมด โดยหลัก ๆ เป็นยอดขายจากโครงการ วันเวลา ณ เจ้าพระยา ประมาณ 2,500 ล้านบาท โครงการนี้เป็นโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดตัวในช่วงปลายปี 2566 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปีที่ผ่านมาโครงการวันเวลา ณ เจ้าพระยาได้เปิดเฟสใหม่ โดยเปิดขาย Tower C ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ปัจจุบันโครงการมียอดขายรวมประมาณ 7,700 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของมูลค่าโครงการ การพัฒนาโครงการมีความคืบหน้าประมาณ 20% และคาดว่าจะเริ่มโอนได้ในช่วงปลายปี 2569
- ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีสินค้าคอนโดมิเนียมในมือพร้อมขายทั้งหมด 6 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 13,500 ล้านบาท โดยเป็นโครงการสร้างเสร็จพร้อมโอน 5 โครงการ มูลค่าประมาณ 6,200 ล้านบาทและโครงการวันเวลาที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกกว่า 7,300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2568 บริษัทฯ จะเน้นการขายสินค้าคอนโดมิเนียมจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันนายอาชวิณ อัศวโภคิน รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน ได้เปิดเผยฐานะการเงินของบริษัทฯ และการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ดังนี้
ผลการดำเนินงานปี 2567
- ในด้านฐานะทางการเงิน บริษัทฯ ยังคงมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงจากการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ดีและจากสินทรัพย์ลงทุนที่มีอยู่ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท อายุ 2-3 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14% ต่อปี เพื่อใช้หมุนเวียนในการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ ประมาณ 67,000 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ประมาณ 1.3 เท่า และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 3.11%
- สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่าและบริการ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการที่พัฒนาและอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทฯ ทั้งหมด 18 แห่ง ประกอบด้วยโรงแรม Grande Centre Point ที่เปิดดำเนินการ แล้ว 7 แห่ง (ขายเข้ากองทรัสต์ 6 แห่ง) และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ศูนย์การค้า Terminal 21 3 แห่ง (ขายเข้ากองทรัสต์ 2 แห่ง) รวมถึง อะพาร์ตเมนต์และโรงแรมในสหรัฐอเมริกาอีก 5 แห่ง
- ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตได้ดีกว่าแผนที่วางไว้ โดยคาดว่ารายได้ทั้งปีจะเติบโตประมาณ 16% จากปีก่อน สาเหตุมาจากธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายได้จากโรงแรม Grande Centre Point Surawong ที่ดำเนินการได้เต็มปีในปี 2567 และการเข้าซื้อโรงแรม Residence Inn Manhattan Beach เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ทำให้รายได้จากกิจการโรงแรมในสหรัฐอเมริกาเติบโตกว่าเท่าตัวจากปีก่อน
- โดยรวมแล้ว บริษัทฯ มีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่าและบริการ เป็นมูลค่า 5,800 ล้านบาท ประกอบด้วย
- เข้าซื้อโรงแรม Residence Inn Manhattan Beach 2,400 ล้านบาท
- พัฒนาโครงการ Grande Centre Point Lumphini 2,100 ล้านบาท
- พัฒนาธุรกิจโรงแรมและอะพาร์ตเมนต์อื่นๆ 1,300 ล้านบาท
- เดือนพฤศจิกายน 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินการขายศูนย์การค้า Terminal 21 Pattaya ให้กับ
ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC) เป็นมูลค่า 5,680 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุน แต่เนื่องจากความต้องการหน่วยทรัสต์ของนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยมีมากเกินความคาดหมาย จึงส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนใน LHSC ของบริษัทฯ ปรับเปลี่ยนจาก 9.0% เป็น 7.8%
แผนการดำเนินงานปี 2568 : เดินหน้าธุรกิจให้เช่าอย่างต่อเนื่อง ลดระดับหนี้สินต่อทุน
- บริษัทฯ ได้เตรียมงบลงทุนไว้ทั้งหมดประมาณ 8,500 ล้านบาท ประกอบด้วย
- งบสำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 4,000 ล้านบาท
- งบลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า 4,500 ล้านบาท
- และในปีนี้จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่อีก 1 แห่งในเดือนเมษายนคือ Grande Centre Point Lumphini ซึ่งเป็นอาคารประเภท Mixed Use ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานประมาณ 12,700 ตร.ม. และโรงแรม 512 ห้อง พร้อมทั้งพื้นที่จัดเลี้ยงที่มากที่สุดในเครือโรงแรม Grande Centre Point ตามด้วย Grande Centre Point Ratchadamri2 ในปีหน้า และ Grande Centre Point Pattaya3 ในปีถัดไป
- นอกจากนี้บริษัทฯ คาดว่าจะปรับพอร์ตการลงทุนในสหรัฐอเมริกา โดยลดสัดส่วนของอะพาร์ตเมนต์ ลงตามสถานการณ์หลังการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบการทำงานแบบ Work From Home อยู่ และบริษัทฯ จะหันมาเน้นการดำเนินธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก
- บริษัทฯ มีแผนที่จะออกหุ้นกู้มูลค่า 12,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด และ คาดว่า ณ สิ้นปี 2568 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิจะอยู่ในระดับประมาณ 1.0 เท่า ซึ่งลดลงจาก สิ้นปี 2567
โครงการ | ประเภท | ขนาดโครงการ (ไร่) | จำนวนหลัง ทั้งหมด | ราคาเฉลี่ยต่อหลังล้านบาท | มูลค่า โครงการ ล้านบาท | ไตรมาส ที่เปิดขาย |
1. สีวลี บางนา กม. 13 | บ้านเดี่ยว | 73.2 | 326 | 9.3 | 3,040 | Q1 |
2. VIVE ภูเก็ต | บ้านเดี่ยว | 20.0 | 36 | 36.1 | 1,300 | Q1 |
3. VIVE กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ | บ้านเดี่ยว | 48.3 | 73 | 63.3 | 4,620 | Q2 |
4. นันทวัน ราชพฤกษ์-พรานนก | บ้านเดี่ยว | 33.2 | 34 | 65.3 | 2,220 | Q4 |
รวมทั้งหมด | 174.7 | 469 | 23.8 | 11,180 |