บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ผู้นำแห่งวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง ครองตำแหน่งผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า มองว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาจะช่วยส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดอสังหาฯ และคาดว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทในการกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง
ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากภาครัฐอนุมัติโครงการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วงปลายปีออกมาเพิ่มเติม ในส่วนของโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) โดยบ้านหลังแรก ไม่ต้องวางเงินดาวน์และสามารถกู้เพิ่มซื้อเฟอร์นิเจอร์ 10% ส่วนบ้านหลังที่ 2 หากมีการผ่อนบ้านหลังแรกมาแล้วตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปสามารถวางเงินดาวน์เพียง 10% อีกทั้งการประกาศพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียสำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขาย ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุด โดยภาพรวมมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงปี 63 นี้ ทำให้ตลาดกลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
การปลดล็อคมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในครั้งนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ เชื่อว่าสามารถทำให้ตลาดฟื้นตัวได้ในบางส่วนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้คาดว่าจะเป็นส่วนช่วยระบายสต็อกของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ซัพพลายในตลาดลดลง และยังส่งผลบวกต่อบริษัทในด้านการโอนโครงการต่างๆ
“มาตรการของภาครัฐเรื่องบ้านดีมีดาวน์ อนันดามีสัดส่วนของมูลค่าบ้านที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทเป็นจำนวนประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการและจะเริ่มส่งผลบวกในช่วงต้นปี 2563
นอกจากนี้ด้านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงยังเป็นผลดีต่อภาพรวมอสังหาฯ และปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของสายรถไฟฟ้าที่จะทยอยเปิดเพิ่มจาก 109 สถานี เป็น 133 สถานี ในปี 2563 ทั้งส่งผลดีต่อคอนโดแนวรถไฟฟ้า สุดท้ายคือปัจจัยบวกจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นปัจจัยเชิงบวกด้านจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี
บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าด้วยกลยุทธ์พัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ซึ่งยังคงเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจที่ริเริ่มเป็นรายแรกและดำเนินการมาโดยตลอด การขยายเครือข่ายของรถไฟฟ้าจากปัจจุบัน 109 สถานีเป็น 221 สถานีในอีก 5 ปี และจะเป็น 319 สถานีในอีก 11 ปีข้างหน้า ทำให้ผู้นำการพัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า อย่างอนันดาฯ ได้รับผลดีจากการขยายตัวนี้โดยตรง
“อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวเสมอมาว่าเรายังเน้นย้ำการรักษาวินัยทางการเงินไว้อย่างเข้มงวด โดยจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไว้ที่ 1 เท่า โดยเราต้องมั่นใจว่าการเติบโตของบริษัทจะไม่เพิ่มความเสี่ยงซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทในระยะยาว”ดร. ชัยยุทธกล่าวทิ้งท้าย