หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทรู ดิจิทัล พาร์ค ยังคงสานต่อภารกิจการเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวคิด Open Innovation ที่สมบูรณ์แบบครบวงจรอย่างต่อเนื่อง และมีพันธมิตรมากมายที่มาร่วมเติมเต็มระบบนิเวศแห่งนี้ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยต่างๆ บริษัทเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำจากบริษัทชั้นนำระดับโลก การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการต่อยอดเครือข่ายแบบไม่รู้จบ
แน่นอนว่าการมีหน่วยงานและสตาร์ทอัพที่หลากหลาย ท่ามกลางระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่พร้อมนั้นสำคัญสำหรับภารกิจปั้นยูนิคอร์นระดับอาเซียนของทรู ดิจิทัล พาร์ค ในครั้งนี้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการทำให้พันธมิตรในแต่ละภาคส่วนในระบบนิเวศสามารถพบปะรู้จัก เชื่อมโยงถึงกันก่อเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัลเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ
นี่คือสิ่งที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค คิดและออกแบบมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การออกแบบตกแต่งภายในของทรู ดิจิทัล พาร์ค จะเน้นพื้นที่เปิดโล่งและเชื่อมต่อถึงกันในแต่ละชั้นซึ่งเอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างแท้จริงในแต่ละโซน ไม่ว่าจะเป็น Co-Working Space,Office Space, Innovation Space และ Event&Business Services Space
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่น ถือเป็นแลนด์มาร์คของที่นี่ คือ บันไดแก้ว ที่อยู่ใจกลางทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง 3 ตึก คือ Griffin Building, Phoenix Building และเชื่อมชั้น 5-6-7 ของตึก Pegasus Building เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ถือเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการเชื่อมต่อ “Connectivity” ที่สะท้อนถึงแนวคิด Connected Community การเชื่อมโยงถึงกัน ของคนทรู ดิจิทัล พาร์ค ตั้งแต่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ นักลงทุน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและทุกคนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพแห่งนี้
บันไดแก้วนี้ออกแบบโดย Seele บริษัทชั้นนำด้านอาคารและหลังคาระดับโลก ที่มีชื่อเสียงในการใช้กระจกสำหรับงานสถาปัตยกรรมให้สวยงามเกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาสถาปัตยกรรมตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตวัสดุก่อสร้าง การติดตั้งโครงสร้าง มีผลงานระดับโลกมาแล้วมากมายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Apple Store ในนิวยอร์ค เซียงไฮ้ และเมืองอื่นๆ, สำนักงานใหญ่ของบริษัทอีคอมเมิร์ซ Etsy ที่นิวยอร์ค, แคมปัส One Microsoft ที่ดับลิน ซึ่งรวมพนักงานกว่า 72 ประเทศทั่วโลก, Accenture Innovation Hub ที่โตเกียว ซึ่งโดดเด่นด้วยการผสานวัฒนธรรมของญี่ปุ่นดั้งเดิมกับความไฮเทคของนวัตกรรมรวมเข้าด้วยกัน และ Albert Einstein Learning and Research Center เมืองเซาเปาโล เป็นต้น
ทั้งนี้ บันไดแก้ว ไอคอนแห่ง “Connectivity” การเชื่อมต่อของทรู ดิจิทัล พาร์ค วัสดุทั้งหมดทำขึ้นจากกระจก Laminated Tempered Glass ที่มีความแข็งแรงสูง ผ่านการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างความสวยงามและนวัตกรรมล้ำสมัย โดยมีลักษณะเป็นโถงบันไดเวียนทรงกระบอก แกนกลางมีโครงสร้างเป็นรูปทรงกระบอกแก้วขนาดใหญ่ ผนังของโถงบันได แผงราวกันตกและขั้นบันได ล้วนแต่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตแผ่นกระจกขนาดใหญ่ที่มีความสูงหลายเมตร การขนส่ง การประกอบ ติดตั้งและเชื่อมต่อ ทุกองค์ประกอบต้องมีความสมมาตรเท่ากันเพื่อให้มั่นคงรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสวยงามร่วมสมัย เพื่อให้เกิดเป็นบันไดแก้วที่เชื่อมโยงกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้นวัตกรรมที่สมบูรณ์เข้าไว้ด้วยกัน
ด้วยความใส่ใจในการออกแบบและสร้างสรรค์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางและสังคมของคนในแวดวงเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่น่าจับตามองในระดับนานาชาติ ซึ่งคงจะได้เห็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันนี้กลายเป็นต้นกำเนิดยูนิคอร์นสัญชาติไทยในอีกไม่ช้าไม่นานนี้
#Truedigitalpark #startupecosystem #Oneroofallpossibilities