เป็นธรรมดาของคนวัยทำงานที่จะมองหาและฝันที่อยากจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะการที่ตัวเราเริ่มมีชีวิตคู่ ก้าวแรกของการสร้างความมั่นคงในชีวิตสิ่งหนึ่ง ก็คือการสร้างที่อยู่อาศัยร่วมกันนั่นเอง
แต่เมื่อมองกลับมา ณ ปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นั้นราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ การจะกู้ซื้อด้วยฐานเงินเดือนตัวคนเดียวอาจจะทำได้ยาก ดังนั้นการกู้ร่วมจึงเป็นทางเลือกที่จะทำให้เราสามารถซื้อบ้านที่ถูกใจที่สุดได้ แต่การกู้ร่วมมีเงื่อนไขอย่างไรที่ควรรู้ วันนี้ Living Sneak Peek จะมาเล่าให้ฟังกันครับ
การกู้ร่วมคืออะไร?
การกู้ร่วม คือ การที่เรากู้เงินจากธนาคารในการร่วมกู้ทรัพย์สิน “ชิ้นเดียวกัน” พูดง่ายๆ ก็คือ คนสองคนร่วมกันซื้อของ 1 ชิ้น ดังนั้นจึงมองได้ว่า ภาระหนี้สินได้รับการค้ำประกันโดยคนสองคนและไม่หนักจนเกินไป จึงเป็นเหตุให้ธนาคารสามารถ “เพิ่มวงมากขึ้นและอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น” นั่นเอง
คุณสมบัติของผู้กู้ร่วมนั้นต้องเป็นอย่างไร?
หากกลับมามองที่คุณสมบัตินั้น ผู้กู้ร่วมจะต้องเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือด เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ฯลฯ ที่ใข้นามสกุลเดียวกัน สำหรับบุคคลอื่น เช่น ภรรยา จะต้องแสดงหลักฐานด้วยใบจดทะเบียนสมรส หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถใช้หลักฐานทางกายภาพอื่นๆ ได้ เช่น รูปงานแต่ง การ์ดแต่ง หรือการมีบุตรร่วมกันเป็นต้น ส่วนคนที่เป็นแฟนกัน โดยทั่วไปไม่สามารถกู้ร่วมได้นะครับ อาจจะมีบางกรณีที่ทำได้แต่ก็ต้องปรึกษาเป็นบางธนาคารไป ซึ่งมักจะใช้เป็นสถานะ สมรสไม่จดทะเบียน
เหตุผลที่ธนาคารกำหนดให้ผู้กู้ร่วมนั้นเป็นเครือญาติ หรือภรรยา เนื่องจากการกู้ร่วมนั้นเป็นการแบกหนี้ระยะยาว ดังนั้น การกู้ร่วมกันกับคนรู้จักจึงเป็นทางป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำนั่นเอง
สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้ร่วมนั้น ธนาคารจะพิจารณาผู้กู้ร่วมเฉกเช่นเดียวกันกับผู้กู้หลัก นั่นก็คือเรื่องของหลักฐานรายได้ และการชำระหนี้ที่ดี สามารถร่วมรับภาระหนี้ได้
ส่วนการขายทรัพย์สินที่กู้ร่วมนั้น ในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมที่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์มากกว่าหนึ่งคน แน่นอนว่าต้องได้รับการยิมยอมจากทุกฝ่าย โดยมีมติเอกฉันท์ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม จึงจะสามารถขายทรัพย์สินนั้นได้นะครับ
สุดท้ายนี้ การกู้ร่วมคือการสร้างภาระหนี้ จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และอาจสร้างปัญหาให้กับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวหรือชีวิตคู่กันได้ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่อยากกู้ร่วมพิจารณาหลายๆ ด้านให้รอบคอบเสียก่อน อย่าผลีผลามเพราะความอยากได้ และต้องนึกถึงความสามารถในการแบกรับหนี้ทั้งตัวเราและคนที่จะกู้ร่วมกับเรา รวมถึงอุปนิสัยใจคอให้ดีก่อน เมื่อคิดว่าตัดสินใจดีแล้ว Living Sneak Peek ก็ขอให้ทุกคนโชคดีและมีความสุขกับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองทุกคนเลยครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://blog.ghbank.co.th/joint-home-loan/
https://kasikornbank.com/th/k-expert/knowledge/articles/loan/Pages/Home_A008.aspx