แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพ และปริมณฑล ในปี 2566

ได้มีโอกาสไปฟังงานเสวนา ในหัวข้อ ‘กรุงเทพจตุรทิศ : พลิกโฉมกรุงเทพยุคใหม่ อสังหาจะไปทางไหน’ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 โดยบริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด ที่มีทั้งประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, นักวิเคราะห์ EIC, กรรมการผู้จัดการบริษัทเสนา รวมถึงนายกสมาคมอาคารชุดไทย ได้มาร่วมพูดคุยในงาน ผมก็ได้ข้อสรุปมาดังนี้ครับ

จากการที่โควิดเริ่มซา ทำให้ตลาดอสังหาฯค่อยๆกลับมาเติบโตได้มากขึ้นในปีนี้ อย่างคอนโดที่โตกว่า 200% เมื่อเทียบกับปีก่อน และแนวราบเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาฯในปีต่อๆไป คงจะเป็นการพัฒนาระบบราง ที่เห็นว่าจะเพิ่มจาก 100 สถานีในปัจจุบัน ให้เป็น 500 สถานี ในปี 2572 รวมถึงแผนที่จะปรับปรุงผังเมือง กระจายศูนย์กลางเมืองไปทั่วกรุงเทพ ที่จะประกาศใช้ใน 2 ปีข้างหน้า ถ้าภาครัฐทำได้จริงๆ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯในอนาคตเลยครับ

ในส่วนแนวโน้มปีหน้า ตลาดที่อยู่อาศัยอาจจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่จะค่อยเป็นค่อยไป คอนโดราคาต่ำๆ จะขายได้มากกว่า เพราะกำลังซื้อยังค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งในตอนนี้กลุ่มเซ็กเมนต์ที่เติบโตได้ดี คือคอนโดราคา 1-2 ล้าน และบ้านเดี่ยวราคา 6-10 ล้านครับ ส่วนบ้านแฝดกับทาวน์โฮมยังติดลบ แต่กลุ่ม Luxury ยังคงเติบโตสม่ำเสมอครับ

สอบถามผู้บริโภคในปัจจุบันเค้าสนใจบ้านถึง 40% แต่ว่าอยากซื้อที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้าน ก็สะท้อนว่าจริงๆผู้บริโภคสนใจแนวราบ แต่ด้วยกำลังซื้อที่ไม่มาก เลยตัดสินใจซื้อคอนโด ก่อนที่จะขยับขยายในอนาคตครับ ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมือ 2 เติบโตในปีนี้ เพราะมีราคาต่ำกว่า เมื่อเทียบด้วยขนาด หรือทำเล ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

พูดถึงปัจจัยบวกที่ส่งผลให้อสังหาฯเติบโต คือกำลังซื้อเริ่มสูงขี้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงการกระตุ้นจากภาครัฐ อย่างการลดค่าโอน ค่าจดจำนอง และการขยายตัวของรถไฟฟ้าครับ แต่ปัจจัยลบก็ยังมีภาวะเงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน ต้นทุนการก่อสร้างสูง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

โดยเทรนด์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อประกอบด้วย การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั่นเอง ถัดมาคือการทำงานแบบ Hybrid Workplace บางคนต้องทำงานที่บ้านบ่อยๆ ทางผู้พัฒนาจึงควรออกแบบที่อยู่อาศัยเน้นฟังก์ชั่นที่ยืดหยุ่น และเทคโนโลยีอย่าง Home Automation ช่วยให้สะดวก หรือติดโซลาร์เซลล์ เพราะคนเริ่มให้ความสำคัญกับการประหยัดค่าไฟ รวมถึงการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ

แต่ในตอนนี้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยหรือดีมานด์ ก็ยังคงต่ำกว่าซัพพลาย อย่างในโซนที่คอนโดมีคนซื้อน้อย เหลือขายมาก เช่น ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง, ปากเกร็ด, พระโขนง-บางนา-ประเวศ, บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด และสุขุมวิทครับ ทางออกของปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย คงจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาอาศัยในกรุงเทพ และพัฒนากฎหมายรองรับการถือครองที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติในระยะยาว รวมถึงร่วมมือและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านสุขภาพ ก็จะดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาล จนนำไปสู่การเข้ามาอาศัยเป็นบ้านหลังที่ 2 ครับ

#LivingSneakPeek #SneakNews